วันที่โพสต์: Mar 28, 2022 6.00 pm
สำนักกฎหมายทนายชนะ ทนายหาดใหญ่ ทนายสงขลา บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างคดีแพ่งคดีอาญา และคดียาเสพติดทั่วราชอาณาจักร โดยทนายชนะ ชนะพล โทร 080 549 3774
วันที่โพสต์: Mar 28, 2022 6.00 pm
แนวคำพิพากษาคดียาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
หลายท่านคงพอจะทราบกันแล้วว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการประกาศบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลให้ยกเลิกกฎหมายยาเสพติดในส่วนสำคัญๆ ที่เคยบังคับใช้แต่เดิมมายาวนาน ในที่นี้ผมจะขอเสนอข้อมูลแนวคำพิพากษาศาลในส่วนของเรื่องอัตราโทษอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเกิดจากการจำหน่าย หรือขายยาเสพติดโดยเปรียบเทียบกับกฎหมายเดิมกับประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ให้ทราบพอเป็นสังเขป ครับ
ซึ่งแต่เดิมนั้น อัตราโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดประเภทร้ายแรงอย่างเมทแอมเฟตามีน หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 จะมีอัตราโทษมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับปริมาณสารบริสุทธิ์หรือปริมาณของจำนวนหน่วยการใช้ยาเสพติดเป็นสำคัญ ซึ่งเดิมมีอัตราโทษต่ำสุดจำคุกตั้งแต่ 4 ปี อัตราโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
แต่หลังจากมีพระราชบัญญัติออกประกาศให้บังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมานั้น ทำให้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแต่เดิมนั้นแตกต่างกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้ประกาศบังคับใช้ในภายหลังกระทำความผิด กล่าวคือเนื้อหาสำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ได้กำหนดอัตราโทษความผิดในลักษณะเดียวกันต่ำกว่ากฎหมายยาเสพติดแต่เดิมมากนัก เนื่องจากมิได้พิจารณาจากปริมาณของสารเสพติดเป็นกฎเกณฑ์ในการกำหนดระวางโทษ ซึ่งการลงโทษผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 แม้จะมียาเสพติดของกลางปริมาณมาก ก็มีอัตราโทษอย่างสูงไม่ถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ซึ่งข้อหาตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ในช่วงระยะแรกๆ
ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 นั้น มิได้ขอลงโทษจำเลยเพราะเหตุพฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เพียงขอให้ลงโทษตามมาตรา 145 วรรค 1 ซึ่งเป็นบทเบามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปีเท่านั้น ดังนั้นอัตราโทษที่ศาลจะลงตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จึงเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดยิ่งกว่า ทั้งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่กว่ากฎหมายยาเสพติดแต่เดิม ซึ่งที่ผู้เขียนมีประสบการณ์มา ก็พอมีแนวคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายยาเสพติดดังนี้
คดี ย3651/64 ศาลจังหวัดสงขลาฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน ปริมาณสารบริสุทธิ์ 50 กรัม) จำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 145 วรรค 1 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกฐานนี้ 7 ปี 6 เดือน
คดี ย1932/2564 ศาลจังหวัดนาทวี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติด (ยาบ้า 2,605 เม็ด ปริมาณสารบริสุทธิ์ 25 กรัม) ศาลระวางโทษจำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 145 วรรค 1 แต่คดีนี้เนื่องจากจำเลยเป็นข้าราชการกระทำความผิด ศาลจึงระวางโทษจำคุกจำเลยเพิ่มอีก 3 เท่าเป็นจำคุก 45 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ
เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกฐานนี้ 22 ปี 6 เดือน ปรับ 1,500,000 บาท
คดี ย348/64 ศาลจังหวัดสงขลา ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติด (ยาไอซ์และยาบ้า 8 เม็ด ปริมาณสารบริสุทธิ์รวม 11 กรัม) จำคุก 11 ปี และปรับ ... บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 145 วรรค 1 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกฐานนี้ 5 ปี 6 เดือน และปรับ... บาท (คดีนี้ยังผู้เขียนมิได้รับคำพิพากษาฉบับเต็ม)
จากแนวคำพิพากษาที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น มีข้อสังเกตว่า ในคดี ย348/64 ศาลจังหวัดสงขลา ได้กำหนดระวางโทษน้อยกว่าสองคดีก่อนทั้งที่ต้องความผิดด้วยบทมาตราเดียวกัน ผมจึงสันนิษฐานว่า แม้เจตนารมณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 จะมิได้พิจารณาจากปริมาณของสารเสพติดเป็นกฎเกณฑ์ในการกำหนดระวางโทษ แต่ศาลน่าจะยังคงใช้ปริมาณของสารเสพติดเป็นดุลยพินิจในการกำหนดระวางโทษจำเลยอยู่เช่นเดิม ดังนั้น หลักที่ว่า จับได้ยาจำนวนน้อยๆก็รับโทษน้อย ก็ยังคงมีอยู่
และข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง จากตัวอย่างแนวคำพิพากษาที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าศาลมักจะลงโทษฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติด ตามบทตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 145 วรรค 1 ซึ่งเป็นบทเบาเท่านั้น สาเหตุก็เนื่องจากในช่วงระยะแรกพนักงานอัยการมิได้บรรยายฟ้องให้ลงโทษบทฉกรรจ์อันเกิดจากพฤติกรรมร้ายแรง ตามมาตรา 145 วรรค 2 หรือวรรค 3 จำเลยจึงมักให้การรับสารภาพเพราะโทษไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายเดิม แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ผมคาดการณ์ว่าทั้งตำรวจชุดจับกุม พนักงานสอบสวน จะพยามสืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงโดยละเอียดเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อสรุปสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องจำเลยให้ลงโทษบทฉกรรจ์ เช่น ฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ตามมาตรา 145 วรรค 1 ประกอบ 145 วรรค 2 (1) ด้วย ซึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี หรือฐานจำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการจำหน่ายหรือเพื่อจำหน่ายให้แก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี ตาม 145 วรรค 2 (3) หรือฐานจำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการจำหน่ายหรือเพื่อจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา ...ตามมาตรา 145 วรรค 2 (3) ที่ยกตัวอย่างมาเพียงเท่านี้เพราะต้องการเตือนผู้ค้ายาทั้งหลายว่า โอกาสที่ท่านทั้งหลายจะถูกลงโทษเพราะกระทำความผิดตาม มาตรา 145 วรรค 2 ซึ่งตามตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ถือว่าเป็นพฤติกรรมร้ายแรงนั้นจึงน่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ในครั้งนี้ผมนำประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคำพิพากษาคดียาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เพิ่งประกาศบังคับใช้ ถ่ายทอดให้กับผู้สนใจให้พอทราบในเบื้องต้นเพียงเท่านี้ก่อน ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อสู้คดีนั้น มีความยุ่งยากพอสมควรผมไม่อาจนำมาลงให้ทราบได้ทุกแง่ทุกมุม
ท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับคดียาเสพติดจะติดต่อให้ผมเป็นทนายว่าความแก้ต่างคดี โทรมาพูดคุยปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ เบอร์ 080 549 3774 หรือโทรนัดพบผมที่ สำนักกฎหมายทนายชนะ ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนสยามซิตี้เซ็นเตอร์ 2 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้นะครับ
ดำเนินการโดยทนายชนะ (ทนายโบ้) ทนายสงขลา ทนายหาดใหญ่ ทนายคดียาเสพติด