ความแตกต่าง ความผิดอาญาฐานฉ้อโกง กับผิดสัญญาทางแพ่ง
สำนักกฎหมายทนายชนะ ทนายหาดใหญ่ ทนายสงขลา บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างคดีแพ่งคดีอาญา และคดียาเสพติดทั่วราชอาณาจักร โดยทนายชนะ ชนะพล โทร 080 549 3774
ความแตกต่าง ความผิดอาญาฐานฉ้อโกง กับผิดสัญญาทางแพ่ง
ประการแรก การหลอกลวงคือการกระทำสองส่วน กล่าวคือ ส่วนแรก หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หมายถึงการกระทำที่เป็นแสดงออกทางกายภาพ เช่นการพูด การพิมพ์ การเขียน การแสดงกิริยาท่าทาง เหล่านี้เป็นต้น ส่วนที่สอง คือการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือการนิ่งเฉย เป็นการกระทำที่ไม่ได้แสดงออกทางกายภาพ ให้ผู้ถูกหลอกลวงทราบทั้งที่มีหน้าที่ต้องบอก ประการที่สอง เป็นประการที่สำคัญมาก คือ ในประเด็นว่าข้อความอันเป็นเท็จนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบันหรือในอนาคต อย่างไร
ขออธิบายว่า ข้อเท็จจริงที่แสดงออกมาหลอกลวงนั้น โดยหลักต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบันเท่านั้น
ต้องเข้าใจได้ในตัวว่าขณะที่กล่าวนั้นต้องมีความจริงเป็นอย่างไร แล้วมีการกล่าว หรือยืนยันบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เช่น ตนเองไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์แต่ได้ขายน้ำมันพรายให้กับผู้เสียหาย อ้างว่าช่วยให้ขายดี และบอกว่าผู้เสียหายทำผิดผีต้องทำพิธีไหว้อาจารย์ จนผู้เสียหายจนผู้เสียหายหลงเชื่อยอมมอบเงินและทรัพย์สินอื่นรวมหลายหมื่นบาท ให้ตนเอง ดังนี้เป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จซึ่งผู้หลอกลวงรู้อยู่แล้วในขณะนั้นว่าเป็นเท็จ จึงมีความผิดฐานฉ้อโกง
และประเด็นสำคัญต่อมาคือ การให้คำมั่นสัญญาแล้ว หากต่อมาผู้ให้คำมั่นสัญญาไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ เช่นนี้แล้วจะถือว่าเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เข้าลักษณะฉ้อโกงได้หรือไม่ ปัญหานี้ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าลักษณะฉ้อโกง กล่าวคือ ปกติคำมั่นสัญญาจะไม่ถือว่าเป็นการแสดงข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องทำอะไรให้ในอนาคต จึงไม่อาจเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอันจะเป็นฉ้อโกงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าการให้คำมั่นสัญญานั้นนอกจากจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตแล้วยังมีข้อเท็จจริงในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย ก็อาจมีการแสดงเท็จได้หากพิสูจน์ได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาจะหลอกลวงมาแต่แรก อาจมีการวางแผนมาเป็นขั้นๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วส่งมอบทรัพย์ให้ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้คำมั่นสัญญามีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหรือคำรับรองมาแต่ทีแรกแล้วก็ผิดฐานฉ้อโกงได้
ตัวอย่าง ฎีกาที่ 5228/2554 ตนเองได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงินเมื่อได้รับจักรยานยนต์มาแล้วกลับไม่ผ่อนชำระค่างวดเลยแม้แต่งวดเดียว ถือว่าไม่มีเจตนาจะผูกพันตามสัญญาเท่ากับมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก
หมายเหตุ ข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่รวมอยู่ด้วย คือ ในขณะเข้าทำสัญญานั้น ตนไม่มีเจตนาจะผูกพันและได้ปกปิดเจตนาแท้จริงของตนไว้ จึงผิดฐานฉ้อโกง ( แต่ถ้าหากพิสูจน์ไม่ได้หรือพิสูจน์ได้ไม่ชัดในข้อนี้ ก็ถือว่าไม่เป็นความผิด )
แต่หากผู้แสดงข้อความมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำมั่นสัญญา หรือให้คำรับรอง ว่าจะปฏิบัติตามที่ให้คำมั่นสัญญาหรือที่ให้การรับรองนั้น แต่หากต่อมาไม่อาจปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหรือตามคำรับรองนั้นได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ จะถือว่าเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่ได้ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่ผิดฐานฉ้อโกง
ตัวอย่าง ฎีกาที่ 1674-1675/2543 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "การทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ผู้จะขายหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญาไม่ เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 แล้วว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญากันนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงมิได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใดเพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ก็มีอยู่จริง และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง หากไม่มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างจำเลยทั้งสองกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติตามสัญญากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ ดังที่จำเลยทั้งสองไม่เคยปฏิเสธสัญญาที่ทำกับผู้เสียหายทั้งสองและไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเพียงแต่ยังไม่มีเงินคืนให้ผู้เสียหายทั้งสองได้ตามที่เรียกร้องและผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมเปลี่ยนไปเอาที่ดินในโครงการอื่นของจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองเสนอให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง กล่าวคือไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่"
บทความข้างต้นนี้เป็นเพียงความรู้เกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกงเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อสู้คดียังมีเงื่อนแง่ข้อกฎหมายอีกมากพอสมควร ท่านใดที่มีปัญหาทางคดี สามารถโทรติดต่อขอปรึกษาเบื้องต้นมาได้ที่
ทนายชนะ ชนะพล ทนายคดียาเสพติด ทนายหาดใหญ่ บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และ คดียาเสพติด ทั่วราชอาณาจักร
ดำเนินการโดย ทนายชนะ ชนะพล หรือ(ทนายโบ้) โทร 080 549 3774