ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อาจแยกองค์ประกอบได้ดังนี้
1.ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2.โดยการหลอก ลวงดังว่านั้น
2.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม
2.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ
3.โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)
มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลาย กรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปแต่
ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลด มาตรา ส่วนโทษด้วยหรือไม่ ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงนั้นในหลายคดีมีไม่น้อยที่จำเลยสำนึกผิดยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงแต่โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ปอ.ม.91 จำเลยอาจต้องได้รับโทษจำคุกถึง ๒๐ ปี การจะพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรที่เป็นความผิดหลายกรรมหรือความผิดกรรมเดียว อันเป็นแนวทางที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องขอมา ดูคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และ
ที่ 3 คนละ 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ให้จำคุก 1 ปี
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 1 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องและเบิกความแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาเป็น 3 วัน คือวันที่ 25 เมษายน 2555 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและเบิกความว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนเมษายน 2555 ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2555 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ขอให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเงินจากการลงทุนของจำเลยที่ 2 ในการค้าทองคำและ
อัญมณีต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ใช้เงินไปในการลงทุนหมดจึงไม่มีเงินค่าดำเนินการนำเงินปันผลเข้ามาในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าด้วยวิธีการโอนผ่านมายังบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันออกหนังสือจ่ายค่าสมนาคุณให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้รับเงินไปจากโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท จำเลยที่ 3 มอบโฉนดที่ดินสามฉบับเพื่อเป็นประกันไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินสมนาคุณเพิ่ม และขอรับโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับคืน โจทก์หลงเชื่อจึงส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสามฉบับคืนแก่จำเลยทั้งสี่ไป วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โจทก์จ่ายเงินเพิ่มเติมเนื่องจากค่าธรรมเนียมที่จ่ายไปนั้นยังไม่เพียงพอ โจทก์หลงเชื่อจึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไป โดยทำหนังสือสัญญาจ่ายค่าสมนาคุณไว้และโอนเงินจำนวน 1,300,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 และวันที่ 27 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โจทก์โอนเงินจำนวน 152,000 บาท โดยแจ้งว่าเป็นค่าธรรมเนียมในการโอนเงินค่าสมนาคุณเข้าบัญชีบุคคลของโจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ยังหลอกลวงโจทก์อีกว่าต้องนำเงินอีกจำนวน 20,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์หลงเชื่อจึงโอนเงินให้จำเลยที่ 1 ทำให้เห็นได้ว่าการที่โจทก์โอนเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในแต่ละครั้ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หลอกลวงให้โจทก์ช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการนำเงินจากการลงทุนของจำเลยที่ 2 ในการค้าทองคำและอัญมณีต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมพ่อค้าจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามายังประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า จึงเป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2542
จำเลยขอกู้เงินจากผู้เสียหายโดยหลอกลวงว่าเป็นเจ้าของที่ดินมีบ้านปลูกอยู่ 1 หลังซึ่งความจริงไม่มีบ้านปลูกอยู่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้จำเลยกู้ยืมเงินไป และรับจำนองที่ดินของจำเลยเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาโดยการหลอกลวงของจำเลย ผู้เสียหายได้ยอมรับเอาที่ดินดังกล่าวหักกลบลบหนี้กับเงินกู้ยืมโดยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินแล้วทำเป็นสัญญาซื้อขายระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด การกระทำของจำเลยในครั้งหลังไม่ได้มีการกล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ เป็นเพียงผลต่อเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากผู้เสียหายการกระทำของจำเลยถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
ป.อ. มาตรา 90, 341
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรค สอง, 225
หมายเหตุ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 95/2559 และ 3677/2542 ศาลฎีกาให้เหตุผลเป็นทำนองเดียวกันว่าแม้จะมีการส่งมอบเงินรับเงินกันเพราะเหตุถูกหลอกลวงจากจำเลยหลายครั้งก็ตามแต่ก็มีผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยออกอุบายการหลอกลวงในขณะที่ลงมือกระทำในครั้งแรกและมีเจตนาต่อเนื่องเป็นอย่างเดียวกัน มิใช่เกิดจากการออกอุบายที่เป็นการหลอกลวงในครั้งหลัง ครั้งหลังไม่มีการออกอุบายแสดงข้อความหรือปกปิดข้อความที่เป็นการหลอกลวงแต่อย่างใด จึงพิพากษาลงโทษเพียงกรรมเดียว
บทความนี้เป็นการนำเสนอความรู้ทางกฎหมายเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อสู้คดียังมีเงื่อนแง่ข้อกฎหมายอีกมากพอสมควร ท่านใดที่มีปัญหาทางคดี สามารถโทรติดต่อขอปรึกษาเบื้องต้นมาได้ที่ ทนายชนะ ชนะพล ทนายคดียาเสพติด ทนายหาดใหญ่ บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และ คดียาเสพติด ทั่วราชอาณาจักร
ดำเนินการโดย ทนายชนะ ชนะพล หรือ(ทนายโบ้) โทร 080 549 3774