วันที่โพสต์: Jan 04, 2016 12:32:51 PM
สำนักกฎหมายทนายชนะ ทนายหาดใหญ่ ทนายสงขลา บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างคดีแพ่งคดีอาญา และคดียาเสพติดทั่วราชอาณาจักร โดยทนายชนะ ชนะพล โทร 080 549 3774
วันที่โพสต์: Jan 04, 2016 12:32:51 PM
คำพิพากษาฎีกาที่ 3152/2543
ป.อ. มาตรา 317
คำว่า "พราก" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า จากไป พาเอาไปเสียจาก แยกออกจากกันหรือเอาออกจากกัน ดังนั้น คำว่า "พราก" ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
การที่จำเลยจูงเด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องโดยมิได้ใช้แรงฉุด แล้วให้นั่งรออยู่คนเดียวประมาณ 20 นาที ระหว่างนั้นเด็กหญิง ส. สามารถที่จะกลับบ้านได้และเด็กหญิง ส. เคยไปนั่งเล่นในห้องนอนจำเลยบ่อย ๆ พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่า การที่เด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องนอนจำเลยและอยู่ในห้องนอนจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลานานนั้นเป็นไปด้วยความเต็มใจของเด็กหญิง ส. เนื่องจากเด็กหญิง ส. ชอบพอจำเลยมากกว่าที่จะถูกชักชวนและจูงจากจำเลยเพราะเด็กหญิง ส. สามารถที่จะไม่ไปตามที่จำเลยจูงก็ได้เนื่องจากจำเลยมิได้ใช้กำลังและสามารถที่จะกลับบ้านตนเองได้ระหว่างที่อยู่คนเดียว เนื่องจากไม่มีอะไรมาขัดขวางการกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะพาไปหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของมารดาเด็ก อันทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน จึงไม่เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
คำพิพากษาฎีกาที่ 8052/2549
ป.อ. มาตรา 317
คำพิพากษาฎีกาที่ 3718/2547
ป.อ. มาตรา 91, 277, 284, 317
ที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับ ส. ไปเที่ยวที่อำเภอนางรองแต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดงนั้น ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงไปและได้ชวน ส. ไปเป็นเพื่อนด้วยได้ไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรองจนถึงเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยชวนไปเที่ยวต่อที่บ้านเพื่อนจำเลยหลังจากนั้นก็ชวนกลับ แต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้ากลับบ้านเนื่องจากเป็นเวลาค่ำมืดแล้วกลัวบิดามารดาดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยผู้เสียหายที่ 2 และ ส. ได้ไปเที่ยวเขื่อนลำนางรองด้วยกันแล้วผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนหลังวันเกิดเหตุเพียง 3 วัน จึงเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวแต่ประการใด หากแต่เป็นความยินยอมพร้อมใจที่จะไปเที่ยวกับจำเลยและ ส. ตามประสาวัยรุ่น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องเกิดเหตุภายหลังโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยวางแผนมาแต่แรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก
ความผิดฐานพรากเด็กมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็กมิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 และ ส. จะเพียงชวนกันไปเที่ยวอันเป็นการที่ผู้เสียหายที่ 2 เต็มใจไปกับจำเลยเองดังวินิจฉัยข้างต้น แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 และ ท. ผู้เป็นบิดามารดา ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้านทั้ง ๆ ที่จำเลยชวนกลับแล้วนั้น จำเลยก็หามีสิทธิที่จะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และ ท. ไม่ ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็มีลักษณะเป็นการหลบซ่อนเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไปพบผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นข้อพิรุธในการกระทำของจำเลย จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ตลอดมาแล้วจำเลยยังได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยมิได้มีความรักใครกันทางชู้สาวมาก่อน และจำเลยก็ไม่มีเจตนาจะแต่งงานอยู่กินหรือเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใด ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 473/2547
ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก
จำเลยรับ ศ. ผู้เยาว์มาจากในตัวเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปที่ห้องพักของจำเลย จากนั้นจำเลยไดร่วมประเวณีกับ ศ. แม้ว่า ศ. ออกจากบ้านเองโดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักนำ แต่เมื่อจำเลยพบ ศ. ในบริเวณตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดย ศ. ยินยอมแต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง ศ. ไม่ได้ยินยอมอนุญาต ย่อมเป็นการพราก ศ. ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหาย จำเลยร่วมประเวณีกับ ศ. โดยไม่ได้ประสงค์รับเป็นภริยา พฤติกรรมของจำเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรในทางเพศตามครรลองครองธรรม ถือเป็นการกระทำเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก เป็นความผิดอาญาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
คำพิพากษาฎีกาที่ 4526/2543
ป.อ. มาตรา 319
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีต่อผู้เยาว์มิให้ผู้ใดมาพรากไปเสียจากความปกครอง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอาศัยอยู่กับนาย บ. และนาง ก. ผู้เป็นบิดามารดาและอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา การที่นาง ก. อนุญาตให้ผู้เสียหายไปเที่ยวกับเพื่อนนั้นเป็นการอนุญาตให้ออกไปเที่ยวเป็นชั่วคราว มิได้อนุญาตให้แยกออกไปอยู่โดยลำพังเป็นการถาวร จึงยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของบิดามารดาการที่ผู้เสียหายออกจากบ้านพักไปหาจำเลยที่หอพัก หลังจากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าแล้วชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลยและอยู่กับจำเลยเรื่อยมา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยบิดามารดาของผู้เสียหายมิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายไปอยู่กับจำเลย ถือเป็นการพรากผู้เสียหายออกมาจากบิดามารดาอันเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก