สำนักกฎหมายทนายชนะ ทนายหาดใหญ่ ทนายสงขลา บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างคดีแพ่งคดีอาญา และคดียาเสพติดทั่วราชอาณาจักร โดยทนายชนะ ชนะพล โทร 080 549 3774
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2552
นายโกสุม ศรีนวล โจทก์
นางวัลลภา นาคใหญ่ จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 224, 407, 653
ยอดเงินกู้จำนวน 1,025,000 บาท ตามสัญญากู้เงินมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยจำนวน 559,000 บาท ซึ่งไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนเงินส่วนที่มีที่มาจากดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็สามารถแยกส่วนเงินต้นที่สมบูรณ์ออกมาได้ จำเลยรับในคำให้การและนำสืบว่าก่อนทำสัญญากู้เงินจำเลยค้างชำระเงินต้นแก่โจทก์ 466,000 บาท ส่วนที่นำสืบว่าได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์บ้างแล้วคงค้างชำระเงินต้นเพียง 200,000 บาทนั้น ในส่วนของการชำระเงินต้นจำเลยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้นำสืบและรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ 33,000 บาท เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืนดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้ว จึงนำไปหักออกจากเงินต้นที่ค้างชำระไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดในการชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224
________________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,294,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,025,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้หนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า ทางนำสืบของจำเลยไม่สมเหตุสมผล จำเลยไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าได้ใช้หนี้ให้แก่โจทก์จริงสัญญากู้เงินระบุอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน พยานจำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน เป็นการเบิกความเกินความจริง และจำเลยทราบดีว่าสัญญากู้เงินเป็นหลักฐานที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เห็นว่า จำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้เงินระบุยอดเงินซึ่งมีดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยยืมเงินโจทก์หลายครั้งตั้งแต่ประมาณปี 2540 เป็นต้นมา บางปีจำเลยยืมเงินโจทก์ถึง 3 ครั้ง โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2545 โจทก์และจำเลยจึงคิดบัญชีหนี้สินกันได้ยอดหนี้เงินต้นซึ่งจำเลยค้างอยู่ 466,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวร้อยละ 5 ต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปี เป็นดอกเบี้ย 559,200 บาท แต่โจทก์ลดให้ 200 บาท และนำดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 ปีดังกล่าวไปรวมกับเงินต้นที่ยังค้างรวมเป็นเงิน 1,025,000 บาท แล้วทำสัญญากันใหม่ตามสัญญากู้เงิน หลังจากนั้นจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมาคงค้างอยู่อีก 200,000 บาท โจทก์ไม่เคยออกหลักฐานการรับเงินให้ ซึ่งคำเบิกความของจำเลยสอดคล้องกับสัญญากู้เงินอย่างสมเหตุสมผล ทั้งจำเลยยังมีนางกานต์ณา พยานร่วมระหว่างโจทก์และจำเลยเบิกความสนับสนุนทางนำสืบของจำเลย ส่วนโจทก์คงมีตัวโจทก์เบิกความว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ตั้งแต่ปี 2539 ครั้งละ 100,000 ถึง 200,000 บาท และมีการคิดบัญชีหนี้สินบ้างในบางปี ต่อมาปี 2545 มีการคิดบัญชีหนี้สินกันอีกปรากฏว่าจำเลยค้างชำระเงินต้น 725,000 บาท ดอกเบี้ย 4 ปี ปีละ 87,000 บาท โจทก์จึงนำไปรวมเป็นยอดเงินใหม่และทำสัญญากู้เงินระบุยอดเงินกู้ยืม 1,025,000 บาท ซึ่งฟังเป็นพิรุธ เพราะโจทก์อ้างว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ครั้งละ 100,000 ถึง 200,000 บาท แต่เหตุใดโจทก์จึงยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนสูงอยู่เสมอๆ ทั้งๆ ที่จำเลยไม่มีหลักประกันอันใดให้แก่โจทก์ ทั้งๆ ที่จำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาหลายปีอีกด้วย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่ายอดเงินกู้ตามสัญญากู้เงินมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยจำนวน 559,000 บาท ซึ่งไม่สมบูรณ์และตกเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนเงินส่วนที่มีที่มาจากดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็สามารถแยกส่วนเงินต้นที่สมบูรณ์ออกมาได้จำเลยรับในคำให้การและนำสืบว่าก่อนทำสัญญากู้เงินจำเลยค้างชำระเงินต้นแก่โจทก์ 466,000 บาท ส่วนที่นำสืบว่าได้ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์บ้างแล้วคงค้างชำระเงินต้นเพียง 200,000 บาทนั้น ในส่วนของการชำระเงินต้น จำเลยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้นำสืบและรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ว่า จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ 33,000 บาท เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืนดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้ว จึงนำไปหักออกจากเงินต้นที่ค้างชำระไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดในการชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 466,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
( อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย - มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ )
หมายเหตุ