ข่มขืน ชำเรา รับสารภาพ
สำนักกฎหมายทนายชนะ ทนายหาดใหญ่ ทนายสงขลา บริการว่าความ ฟ้อง แก้ต่างคดีแพ่งคดีอาญา และคดียาเสพติดทั่วราชอาณาจักร โดยทนายชนะ ชนะพล โทร 080 549 3774
ข่มขืน ชำเรา รับสารภาพ
แจ้งแก้ไขข้อมูล
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 317
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งหกขอถอนคำให้การเดิมแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางแพงศรี ผู้เสียหายที่ 1 และเด็กหญิง ก. ผู้เสียหายที่ 2 โดยนางแพงศรี ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกในส่วนผู้เสียหายที่ 1 อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร ส่วนผู้เสียหายที่ 2 อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานกระทำชำเรา) โดยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งหกโดยโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกค่าเสียหายที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อบำบัดจิตใจและเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นเงิน 100,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ร่วมที่ 2 เรียกร้องค่าเสียหายที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงเรียนเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายทางร่างกาย จิตใจและเสรีภาพเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าเสียหายด้านทุรศีลธรรมทำให้มีมลทินติดตัว ถูกสังคมดูถูกเหยียดหยามเป็นเงิน 180,000 บาท รวมเป็นเงิน 720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับที่ 5 และที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งเฉพาะจำเลยดังกล่าวออกจากสารบบความ และโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)), 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 27 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองจนเป็นที่พอใจแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จำคุกคนละ 25 ปี (ที่ถูก และฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน) รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 คนละ 27 ปี 6 เดือน ในส่วนคดีแพ่ง ศาลพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 4 และผู้ร้องทั้งสอง (ที่ถูก โจทก์ร่วมทั้งสอง) ฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เห็นว่า ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไปจากโจทก์ร่วมที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยทั้งหก โดยจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายจับแขนและปิดปากโจทก์ร่วมที่ 2 จนโจทก์ร่วมที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยทั้งหกกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 จนสำเร็จความใคร่หลายครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงไม่ยินยอม ตามประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและจำคุกตลอดชีวิต แม้จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็ยังมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งหกเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดตามฟ้องและศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยทั้งหกได้กระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกตามฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นฝ่ายไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านของจำเลยที่ 3 เองและยินยอมให้จำเลยทั้งหกกระทำชำเรา โดยอ้างเหตุในอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่เคยถูกกระทำชำเรามาแล้วหลายครั้งโดยบุคคลหลาย ๆ คน ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมให้จำเลยทั้งหกมีเพศสัมพันธ์เป็นกลุ่มแบบเล่นเซ็กส์หมู่ โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ดิ้นรนขัดขืนและกล่าวอ้างในฎีกาอีกตอนหนึ่งว่า ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 2 กำลังร่วมประเวณีกับจำเลยทั้งหกนั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้ดิ้นรนต่อสู้หรือขัดขวาง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมที่ 2 มีโอกาสร้องขอความช่วยเหลือได้ แต่โจทก์ร่วมที่ 2 กลับพูดเย้ยหยันจำเลยที่ 5 ว่า "ถ้าไม่แข็งไม่ต้องสอดใส่เข้าไป" ซึ่งแสดงว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้กลัวหรือตกอยู่ในภาวะที่ถูกบังคับแต่อย่างใด แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ยินยอมหรือเต็มใจให้จำเลยทั้งหกร่วมประเวณีในลักษณะเป็นกลุ่มหรือเซ็กส์หมู่ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ฟังพยานหลักฐานโจทก์ที่สืบประกอบคำรับสารภาพว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันพรากโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเสียจากโจทก์ร่วมที่ 1 และร่วมกันจับแขนและปิดปากของโจทก์ร่วมที่ 2 จนอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 2 โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ยินยอม ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพไม่สมฟ้องนั่นเอง จึงไม่ใช่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งจะต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก่อนตามลำดับชั้นศาลแต่อย่างใด แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่ การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176
ผู้พิพากษา
วิรุฬห์ แสงเทียน
ปดารณี ลัดพลี
ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี